Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...
วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

วันเก่า ..กับ ไอน้ำแห่งความทรงจำ

รถจักรไอน้ำมิกาโด วางล้อแบบ 2-8-2 ผลิตประเทศญีป่น ภาพ :http://steamtrainstories.com

 ยะลา...ในอดีตที่ผ่านมาราว 30-40 ปีนั้น เป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ ที่เงียบสงบ, สะอาด และวิถีของผู้คนที่ดำเนินชีวิตไปด้วยความเรียบง่าย, ผู้คนหลากเชื้อชาติ ต่างอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตามฐานานุรูป และไร้สิ่งปรุงแต่งจากบรรดาเทคโนโลยีรุ่มร่าม และฟุ่มเฟือย แบบที่สังคมเมืองส่วนใหญ่ต่างล้วนเผชิญกับทางสองแพร่ง ระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิม กับการก้าวเดินตามเทคโนโลยี โดยยังไม่ได้เตรียมตัว เตรียมใจในการเผชิญกับ ดาบสองคมทีจะสามารถให้ทั้งผลดี และผลเสียไปพร้อม ๆกัน

ผมชอบ วาทะบันทึก ที่คำพูน บุญทวี นักเขียนอาวุโส ที่ได้เขียนไว้ในนวนิยายดัง “ลูกอีสาน” กับคำว่า “ข้าเกิดที่ไหน..ข้าก็เป็นคนของที่นั่น”

มันเป็นคำจริง...ที่ลูกผู้ชายคนหนึ่งได้บันทึกไว้เพื่อแสดงถึงความรัก,ความผูกพัน และสำนึกในแผ่นดินถิ่นเกิดได้อย่างตรงที่สุด

แม้ต้นตระกูลและครอบครัวผมจะไม่ได้เป็นคนยะลา....ทว่าด้วย ชีวิตและหน้าที่การงานของพ่อ ที่ทำงานเป็น พนักงานตรวจรถไฟ (พตร) ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างไปจากอาชีพรับราชการอื่น ๆ ที่ต้องมีการย้ายถิ่นฐานจากที่หนึ่ง ไปอีกหลาย ๆ ที่ ได้ตลอดเวลา

ในบรรดาพีน้องทั้งหมด 7 คน จึงกลายเป็นพี่น้องที่ต่างที่เกิดกัน พี่ ๆ ส่วนใหญ่เกิดใน อ.หาดใหญ่ ส่วนผมและพี่ชาย กลายเป็นคนยะลา

บ้านพักรถไฟในยะลา เมื่อสัก 40 กว่าปีที่ผ่านมานั้น มักจะสร้างเป็นเรือนไม้ ที่ตั้งคู่ขนานไปกับรางรถไฟ ตั้งแต่หัวสถานี ไปจนสุดปลายย่านสถานีรถไฟ

ชีวิตในวัยเด็กของผมส่วนใหญ่จึงคลุกคลีอยู่กับ รถไฟ และทุกอย่างที่เกี่ยวกับ รถไฟ ...ความผูกพันของเด็กในวัยกำลังกิน กำลังเล่น จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เด็กรถไฟส่วนใหญ่ จึงซึมซับเอาความรู้สึกดี ๆ จากสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว และภาคภูมิใจกับการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมของการขนส่งที่มูลค่ามหาศาลอย่างเช่น “รถไฟ”

พ่อ..มักจะสอนให้ผมและลูก ๆ ทุกคน มีความรู้สึกที่ดี ต่อ “รถไฟ” และมักจะพูดอยู่เสมอว่า อย่าลืมบุญคุณ..ควันไฟ และไอน้ำ ที่ทำให้ครอบครัวเรา ได้มีกิน มีใช้ ได้เล่าเรียนหนังสือมาจนเติบใหญ่
แน่ละ..ผมไม่เคยลืม..รถไฟ ไม่เคยลืม รถจักรไอน้ำ ของเล่นสุดโปรดราคาแพง ที่ผมแอบภูมิใจมากกว่าเพื่อน ๆ ในตลาดคนอื่น ที่แม้จะมีฐานะดีกว่า มีของเล่นดี ๆ แต่ก็คงไม่สามารถมีของเล่นที่ราคาแพงแบบผมได้.........

ทุก ๆ วันหลังเลิกเรียน สิ่งแรกที่ผมและเพื่อนมักจะมีกิจกรรมร่วมกันก็คือ วิ่งไปที่สถานีรถไฟ เพื่อรอน้าศุข พนักงานสับเปลี่ยน ที่นอกจากจะใจดีที่สุดแล้ว....ลูกชายเค้าก็คือเพื่อนร่วมก๊วนที่ดีที่สุดเช่นกัน
หลังขบวนรถสุดท้ายจากสุไหงโกลก สุดปลายทางที่ยะลา มาถึง น้าศุขจะต้องทำการสับเปลี่ยนรถ เพื่อจัดขบวนสำหรับการทำขบวนเที่ยวต่อไปในวันรุ่งขึ้น

การเดินทางของรถจักรไอน้ำที่ทำขบวนจากสถานีสุไหงโกลก สุดปลายทางสถานียะลา ด้วยระยะทางเพียง 300 กว่า กิโลเมตร แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทาง มากกว่า 8 ชั่วโมงนั้น เป็นการทำงานที่เหนื่อยล้ามากสำหรับ พขร

เพราะหากใครได้ซึมซับบรรยากาศบนหัวรถจักรไอน้ำขณะกำลังทำงาน ก็จะทราบว่า การนั่งและยืนอยู่บริเวณหน้าเตาไฟและบอยเลอร์นั้น ร้อนอบอ้าวจนเหงื่อโทรม ในขณะที่ช่างไฟ 2 ต้องทำงานในการโยนฟืนจากตู้ลำเลียงเชื้อเพลิงเข้าเตาไฟจนมือทั้งสองนั้น หนากร้านจนแทบไม่อยากจะเปรียบเทียบว่าคล้ายอวัยวะส่วนใด


รถจักรไอน้ำแปซิกฟิค ล้อ 4-6-2 หมายเลข 830  โดยมีพขร.ประจำในยุคนั้นคือ นายกันย์ แสงแก้ว (เสียชีวิต)
นับเป็น อีก 1ในหลายหัวรถจักรที่ขบวนระหว่าง หาดใหญ่-ยะลา-สุไหงโกลก ในอดีต



บนหัวรถจักรไอน้ำ...พขร,ช่างไฟ1, ช่างไฟ2 มักจะหุงข้าวบนนั้น ...พวกเขาจะใช้ถ้วยอลูมิเนียมเล็ก ๆ ใส่ข้าวสารและน้ำ และอาศัยไอน้ำจากบอยเลอร์ที่เป็นช่องสำหรับการนึ่งข้าว สำหรับมื้อเที่ยงบนหัวรถจักร ส่วนกับข้าวนั้น จะอาศัยจากย่านสถานีรถไฟข้างหน้าที่แต่ละคนหลงใหลในรสชาติ ของสารพัน ไม่ว่าจะเป็นแกงเขียวหวานไก่กับ ไก่ทอด อันลือชื่อ ของสถานีเทพา ปิดท้ายด้วยข้าวหลามและส้มจุกแสนอร่อยที่สถานีรถไฟจะนะ

เมื่อขบวนรถเทียบท่าปลายทาง....ทุกคนจะคอยยืนดูว่า ..วันนี้ รถจักรไอน้ำหมายเลขอะไรที่ทำขบวนเข้าสู่ย่านสถานี และแทบทุกครั้ง เมื่อรถจักรไอน้ำกำลังเข้าเทียบชานชาลา ผมมีหน้าที่จะต้องคอยรับออเดอร์สัญญาน จากเหล่า พขร หรือช่างไฟ
ออเดอรสัญญานที่ว่า ก็คือ “กับข้าว” ครับ............
แม่ผม..นอกจากจะทำหน้าที่ในการเป็นแม่บ้าน ในการจัดเตรียมที่พักสำหรับบรรดาพนักงานรถไฟที่แวะพักแล้ว ยังมีอาชีพเสริมคือ การทำกับข้าวให้กับพนักงานเหล่านั้น โดยผูกกันเป็นเดือน

”พงศ์ บอกแม่ด้วย......วันนี้ สามนะ” เสียงน้าโรจน์ ช่างไฟ1 โผล่หน้าออกมาตะโกนที่ช่องหน้าต่าง พร้อมสัญญานมือชูสามนิ้ว นั่นหมายถึง วันนี้ แม่ผมต้องจัดกับข้าวให้สามชนิด

หลังผู้โดยสารที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนมุสลิม ลงจากขบวนรถแล้ว พวกเราจะรีบขึ้นไปหาที่นั่งในขบวนรถ ..เพราะหลังจากนี้ งานสับเปลี่ยนรถที่แสนสนุกกำลังจะเริ่มขึ้นในไม่ช้า

ผู้ที่ทำหน้าทีในการสับเปลี่ยนรถ นั้น ส่วนใหญ่มักเป็น ช่างไฟ 1 หรือ 2 เพราะเหตุผลจากความเหนื่อยอ่อนเกินไปสำหรับ พขร ตัวจริงที่จะต้องมาทำหน้าที่สับเปลี่ยนต่อเนื่อง


โบกี้ นั่ง ชั้น 3 ในอดีต


สถานีรถไฟยะลาในอดีตนั้น จัดเป็นเพียงสถานีพักครึ่งทาง ระหว่าง หาดใหญ่ กับ สุไหงโกลก ดังนั้น ที่นี่จึงไม่มีวงเวียนกลับหัวรถจักรเหมือนกับ หาดใหญ่ หรือ สุไหงโกลก จะมีก็เพียงเฉพาะ โรงเก็บรถจักรที่อยู่ห่างไปทางทิศใต้ของสถานีราว 300 เมตร แต่ส่วนใหญ่ พขร. มักชอบที่จะนำหัวรถจักรเข้ามาจอด

บริเวณหน้าบ้านผม ที่อยู่ติดกับ บ้านพักพนักงานรถไฟ แทน เพราะไม่ต้องเดินหิ้วกระเป๋าสัมภาระเข้าที่พักไกลเกินไป

พ่อผมจะมีหน้าที่ในการเดินตรวจไปในแต่ละโบกี้ เพื่อทำการคลายห้ามล้อ ...บางครั้งผมก็ชอบที่จะไปช่วยพ่อทำงาน แต่ก็ไม่บ่อยนัก เพราะมันไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่นัก และอีกอย่างก็คือ ผมมักจะไม่มีแรงดึงให้สลิงคลายห้ามล้อที่บางโบกี้หนักอึ้งให้คลายหมดได้

พ่อจะใช้ เหล็กเส้นยาวสัก 1 เมตร มาทำเป็นลักษณะตะขอ เพื่อใช้เกี่ยวกับสายสลิงใกล้ ๆ หม้อลมใต้ท้องโบกี้ แล้วก็ดึง.......เมื่อดึงให้ตึงจะมีเสียงคล้าย ๆ ลมถูกระบายออกเสียง ..ฉี่ๆๆๆๆ จากดังไปจนค่อย ๆ เบาลง จนแกนยึดที่ คลายออกไปยันกับคานดานบน ก็เป็นอันเสร็จภาระกิจไปหนึ่งโบกี้ ..นอกจากนี้ พ่อยังต้องคอยตรวจตราบรรดาแท่งห้ามล้อ ที่ทำด้วยเหล็กหล่อ หนาเกือบ 5 นิ้ว ว่ามีอันไหนที่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนใหม่หรือไม่ ...ผมเคยช่วยพ่อยกแท่งห้ามล้ออยู่บ่อยครั้ง ..แต่ละอันนั้นมันหนักชะมัด................”

"แม้วันนี้.....สรรพสิ่งได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลา...เสียงหวูดแหบพร่า อาจเลือนหายไปในความเป็นจริง ทว่า ภาพ,ความรู้สึก และเสียงเพรียก เหล่านั้น ยังคงวิ่งวนอยู่ในห้วงความทรงจำของผมให้นั่งยิ้มอย่างมีความสุขอยู่คนเดียวอยู่ได้อย่างไม่เสื่อมคลาย..."

Bluetrain Shop

Bluetrain Shop
เวบไซด์จำหน่ายรถไฟโมเดล

จำนวนการเข้าชม

บทความยอดนิยม

สถิติการเข้าเว็บ

เพิ่มเว็บ สารบัญเว็บไทย โปรโมทเว็บไซต์
Thanks for. ขับเคลื่อนโดย Blogger.

ผู้ติดตาม

Search

ภาพรวมสถิติ