Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...
วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2556

จาก ฮีโร่ เคสซี่ โจนส์ ถึง คนรถไฟไทย ที่ถูกลืม!?


แทบไม่ได้มีเวลาว่าง...หาโอกาสมาเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องราวของรถไฟในวันเก่า ๆ กันนานเต็มที...วันนี้พอมีเวลาว่าง...โอกาสดี ก็เลยอยากเขียนเรื่องราวดี ๆ ของวันเก่า ๆ ในยุครถจักรไอน้ำมาให้อ่านกันครับ

ผมเคยเขียนเรื่องราวของฮีโร่ พ.ข.ร รถจักรไอน้ำชาวอเมริกันที่ชื่อ นายเคสซี่ โจนส์ เอาไว้เมื่อครั้งยังเป็นเวบไซด์ locosiam.com แต่หลังจากปิดตัวเวบไซด์ลงแล้วก็ปรากฏว่า ต้นฉบับที่เขียนไว้ก็ไม่ได้ทำสำเนาเอาไว้..ดังนั้นหลายเรื่องราวในฐานข้อมูลของเวบไซด์เดิมก็มีอันถูกลบทิ้งไปหมด ...
 แต่ถือว่า..ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญครับ..เพราะแต่ละเรื่องส่วนใหญ่เขียนให้อ่านกันพอเป็นเรื่องอ่านเล่นเพลิน ๆ สำหรับคนที่ชืนชอบเรื่องราวรถไฟ คงไม่อาจนำมาใช้ในแง่ของการเป็นส่วนอ้างอิงทางด้านวิชาการได้ เอาเป็นแค่เสริมความคิดถึงและความสำราญก็คงตรงเป้าหมายของ blog ละครับ

พูดถึง “ฮีโร่”  ซึ่งหมายถึงบุคคลทีมีพฤติกรรมและการแสดงออกของความเป็นผู้มีจิตอาสา..มีใจเสียสละ และกล้าหาญที่จะทำสิ่งใดเพื่อปกป้อง..หรือเพื่อช่วยรักษาสิ่งใด โดยไม่หวั่นเกรงภยันตรายแม้นชีวิตหรือร่างกายตนเองนั้น นับว่าเป็นต้นแบบของการเป็นมนุษย์ที่ถือเป็นแบบอย่างที่น่ายกย่อง และจำเป็นต้องมีบุคคลเหล่านี้ไว้ในโลกใบนี้อีกนานเท่านานเพื่อเป็นหลักประกันแห่งความเป็นสังคมชาติที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

อเมริกา..ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ ค่อนข้างให้ความสำคัญของความเป็น “มุนษย์” โดยเฉพาะมนุษย์ที่มีจิตอาสา..มีความสามารถพิเศษ..หรือเป็นผู้ที่สร้างคุณูปการให้แก่สาธารณะ  คนอเมริกันจะถือว่า นี่คือคนพิเศษและส่วนใหญ่จะให้เกียรติต่อบุคคลเหล่านี้ค่อนข้างกว้างขวาง

ในขณะที่หลายประเทศในเอเชียโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่นบ้านเรา ยังคงให้ความสำคัญต่อคนที่มีจิตอาสาหรือบุคคลที่ทำงานเพื่อสาธารณะน้อยมาก...แต่กลับให้ความสำคัญและยกย่องบุคคลที่มีเงินทองและอำนาจบารมีทั้งในภาคการเมืองและราชการมากกว่าที่จะมองในเรื่องของพฤติกรรมและการช่วยเหลือสังคม

เคสซี่ โจนส์ เป็นตัวอย่างที่คนรถไฟอเมริกัน โดยเฉพาะในรุ่นเก่า ๆ รู้จักและมีชื่อเสียงในฐานะของ “ฮีโร่” เพราะวีรกรรมของการยอมเอาชีวิตตัวเองเข้าแลกเพื่อการรักษาชีวิตส่วนใหญ่ของผู้โดยสารและทรัพย์สินรถไฟ ซึ่งขออนุญาตนำมาเล่าแบบย่อให้รู้จักนายคนนี้กันอีกสักครั้งครับ


เคสซี่ โจนส์ แกมีชื่อทางการยาวเป็นรถไฟว่า นายโจนาธาน ลูเธอร์ จอหน์ เคสซี่ โจนส์ (Jonathan Luther John Casey Jones) ซึ่งถือนับอายุอานามถ้าแกยังอยู่ถึงวันนี้ก็อายุครบ 150 ปี พอดิบพอดี (แกเกิด ปี ค.ศ 1863)

เคสซี่   เป็นหนุ่มธรรมดาสามัญบ้านนอก จากรัฐเทนเนสซี่ ซึ่งก็ไม่ต่างกับคนหนุ่มสาวอเมริกันที่ต้องบากบั่นหางานการทำทั่วไป


ในยุครถจักรไอน้ำนั้น ก่อนที่จะพัฒนามาสู่ระบบห้ามล้อในปัจจุบันนั้น ตำแหน่งสำคัญที่สุดของกระบวนการทำขบวนรถด้วยรถจักรไอน้ำ จะต้องประกอบด้วย สามส่วนสำคัญคือ ส่วนหน้าที่ของคนขับ หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า พวก Engineer ถัดมาก็คือตำแหน่ง ช่างไฟ หรือ fireman และที่สำคัญอีกตำแหน่งคือ พวกห้ามล้อ หรือ Brakeman



ตัวอย่างห้ามล้อ (Brakeman) ในยุคแรกๆ

ตำแหน่งห้ามล้อโบราณมิได้มีหน้าที่แต่งกายสะอาดสะอ้าน เดินเก็บตั๋วสวมหมวกหม้อตาลหล่อเท่ห์แบบที่เห็นในเมืองไทยวันนี้นะครับ เพราะห้ามล้อ หรือ Brakeman ในสมัยก่อนนั้น หน้าที่ต้องคอยช่วยห้ามล้อรถ โดยตัวเองต้องขึ้นไปยืนบนหลังคาโบกี้แล้วก็ใช้มือหมุน ๆ ๆ  เจ้าเครื่องช่วยเบรกล้อเพื่อให้ขบวนรถค่อยๆ เบาลงและหยุดลงในที่สุด

ดังนั้นเส้นทางก่อนจะได้ขึ้นมาเป็น Engineer หรือตำแหน่ง พ.ข.ร นั้นมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบงาม..ทว่าต้องไต่เต้านับแต่ตำแหน่ง ห้ามล้อ..ขึ้นไปอยู่บนหัวรถจักรทำหน้าที่ ช่างไฟ (Fireman) จนกระทั่งบรรลุวิทยายุทธ์เพื่อการก้าวไปเป็น พ.ข.ร เต็มตัว





เคสซี่ โจนส์ ก็ไม่ต่างอะไรกับกระบวนการกรุยทางนี้.เพราะเริ่มจากการก้าวมาเป็นคนรถไฟด้วยการเป็น พนักงานห้ามล้อ (Brakeman) ,ช่างไฟ(Fireman) และสุดท้ายคือการก้าวมาเป็น พ.ข.ร สมความปรารถนาในที่สุด

Simeon T. Webb ช่างไฟคู่ใจ Casey Jones
29 เมษายน ค.ศ 1900 เคสซี่...และช่างไฟคู่ใจผิวสี นาม แซม เวบบ์ (Simeon. T.Webb) ทำขบวนรถโดยสารด้วยหัวรถจักรแบบ 4-6-0 กลับมาจากแคนตันมาถึงเมมฟิส เพื่อรอพักเตรียมตารางเดินทางวันต่อไป แต่เมื่อมาถึงก็มีตารางและคำสั่งให้ เคสซี่ ช่วยทำขบวนรถทีเรียกว่า ขบวนหมายเลข 1 ย้อนกลับไปแคนตันอีกครั้ง ด้วยเหตุทีว่า พขร.ขบวน 1 นั้นเกิดป่วยกะทันหัน

 เคสซี่ปรึกษากับแซม ช่างไฟคู่ใจ ด้วยปณิธานที่ว่า “เครื่องเจ๋ง..ช่างไฟแจ่ม.” ถึงไหนก็ถึงกัน...ตกลงทั้งคู่ตัดสินใจทำขบวนรถด่วนหมายเลข 1 ย้อนกลับไปแคนตัน ด้วยหัวรถจักรไอน้ำแบบ 4-6-0 ที่มีฉายาว่า แคนนอลบอล (cannonball)


เป็นที่ทราบว่า เคสซี่ เป็นคนหนุ่มที่มิจิตใจกล้าหาญ..ชอบอะไรที่มันท้าทายและที่สำคัญด้วยความสามารถในการทำขบวนรถทำให้เค้าได้รับการการันตีในเรื่องการทำเวลารถได้ดีในระดับแนวหน้า

รถจักรไอน้ำ canonball 4-6-0 ถูกนำมาแสดงโชว์ที่บ้านเกิดเคสซี่

30 เมษายน ค.ศ 1900 รถโดยสารขบวนหมายเลข 1 กว่าจะได้ออกจากเมมฟิสได้ก็เสียเวลาไป 95 นาที ..แต่ด้วยสมรรถนะสองอย่างที่กล่าวมาคือ เครื่องแจ่ม..ช่างไฟเจ๋ง  สองอย่างนี้ทำให้เคสซี่ควบเจ้า แคนนอนบอล์มาด้วยความเร็ว 70 ไมล์ต่อชั่วโมง จนกระทั่งมาถึงก่อนจะเข้าชานชาลาสถานีวอกฮอลล์
ที่สถานีดังกล่าวมีขบวนรถไฟรอหลีกอยู่ถึง 3 ขบวน โดยพบว่าในรางหลีกทางขวามีขบวนรถจอดรถอยู่ 1 ขบวน และในรางหลีกซ้ายมีรถจอดรออยู่สองขบวน!
 ในรางหลีกสองขบวนนั้นคือปัญหา..เพราะขบวนหนึ่งเป็นขบวนรถสินค้าหันหน้าขึ้นทิศเหนือ และอีกขบวนในรางเดียวกันหันหน้าลงใต้ ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับขบวนของเคสซี่ ที่กำลังจะเทียบชานชาลา

“ข้างหน้ามีสัญญานเตือน เคสซี่ “  ซิม..ช่างไฟตะโกนบอกเคสซี่.ซึ่งนั่นหมายถึงว่า ข้างหน้าต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่ง

“ฉี่ๆๆๆๆ ฟู่ดดดๆๆๆ”  เคสซี่ลงห้ามล้อดังลั่น 

 แต่นั่นไม่ได้ทำให้ขบวนรถที่วิ่งมาด้วยความเร็วเฉียด 75 ไมล์ต่อชั่วโมงลดลงได้ด้วยเวลาอันสั้น!

“ท้ายขบวนรถนั่น..ยังอยู่ในรางของเรา!!!”  เสียงซิมตะโกนลั่น  เพราะเมื่อมองผ่านความมืดจนใกล้จะถึงตัวก็พบว่า ขบวนรถที่กำลังจะเข้ารางหลีกในทางซ้ายนั้น ท้ายขบวนอีก 4 โบกี้ยังไม่หลุดพ้นจากรางประธานที่ขบวนของเคสซี่กำลังจะถึงตัวในไม่ช้า..


“กระโดด...ซิม!!! ” เคสซี่ ตะโกนลั่นบอกให้ช่างไฟคู่ใจกระโดดเอาตัวรอด

 “กระโดดเดี๋ยวนี้ซิม!!
”  เสียงตะโกนกำชับเป็นครั้งที่สองเมื่อเห็นซิมหันรีหันขวางอย่างลังเล ก่อนตัดสินใจกระโดดจากหัวรถจักรกลิ้งหลุ่น ๆ ไปข้างทาง

เคสซี่..บังคับเจ้า cannonball ด้วยการลงเบรก ๆๆๆๆ อย่างสุดกำลัง แต่ด้วยพละกำลังมหาศาลของรถจักรไอน้ำทำให้แม้นความเร็วจะลดแต่ก็ไม่อาจต้านแรงเฉื่อยที่มีมากมายได้

“โครม!!!”  เสียงปะทะลั่นสนั่น เมื่อเจ้า cannonball พุ่งเข้าชนท้ายตู้สุดท้ายของขบวนที่ยังคาอยู่บนรางประธาน


เมื่อทุกอย่างสงบลง....ก็พบว่าผู้โดยสารที่เคสซี่ พามาด้วยทุกคน ปลอดภัยดี....ยกเว้น “เคสซี่ โจนส์”

เคสซี่ เสียชีวิตคาที่บนหัวรถจักรที่ตนเองพยายามอย่างเต็มกำลังที่จะทำให้ทุกคนรอดและปลอดภัยในเหตุการณ์ครั้งนี้

เรื่องราวของ เคสซี่ โจนส์ กลายเป็นวีรกรรมที่คนรถไฟอเมริกันถือเป็นเกียรติ มาจวบจนปัจจุบัน  เจ้าหัวรถจักรไอน้ำ cannonball ถูกซ่อมและใช้งานต่อ จนวันนี้มันตั้งเป็นที่ระลึกอยู่ในบ้านเกิดของเคสซี่ รวมทั้งบ้าน,ทุกสิ่ง,สถานีที่เกิดเหตุ ทุกสิ่งกลายเป็นพิพิทธภัณฑ์และเพื่อการท่องเที่ยว

เคสซี่ โจนส์ คือ ฮีโร่ ของคนรักรถไฟชาวอเมริกัน....


ภาพของเคสซี่ ถูกนำไปใช้บนตราไปรษณียากร...เรื่องราวของเค้าถูกนำไปดัดแปลงเป็นการ์ตูนดีๆ สอนเด็ก โดย วอลท์ ดิสนีย์ โดยใช้เรื่องว่า " พ.ข.ร ผู้กล้า" (The Brave Engineer) เมื่อปี ค.ศ 1950


ย้อนกลับมาเมืองไทยในยุครถจักรไอน้ำ...  ราว ๆ ปี พ.ศ. 2515 (ถ้าจำไม่ผิด) ก็ยังต้องถือว่า ภาคใต้ของไทยโดยเฉพาะในสามจังหวัดก็ยังมีขบวนการโจรแบ่งแยกดินแดนอยู่ (ซึ่งก็ต้องบอกว่ามีมานานนับร้อยปีแล้วเช่นกัน)

สมัยก่อนคนขับรถไฟสายใต้ตอนล่างก็จะเป็นที่รู้กันว่า เมื่อจะต้องทำขบวนรถไปสถานีสุไหงโกลกนั้น หลังจากขบวนรถเคลื่อนออกจากสถานียะลาเมื่อใด ความปลอดภัยและความเสี่ยงจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายเหล่านี้อาจมีขึ้นได้ตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะในพื้นที่ นับแต่ สถานีรามัน,ราโล๊ะ, รือเสาะ เจาะไอร้อง ไปจนกว่าจะเบาใจก็เข้าถึง สถานีไอสเตีย,สุไหงปาดีเข้าไปโน่น

พื้นที่สองข้างทางของเส้นทางรถไฟจากสถานี รามันไปจะเป็นป่าเขา และบางช่วงจะเป็นช่วงตัดผ่านชองเขาป่าทึบ และเส้นทางเหล่านี้คดเคี้ยวซึ่งขบวนรถจำเป็นต้องใช้ความเร็วรถต่ำ (เบาทาง) เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในขณะขับขี่




 เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันหนึ่ง ในราวปี พ.ศ 2515 ขณะที่นายเปิม พ.ข.ร (ปัจจุบันเสียชีวิต) ทำขบวนรถโดยสารจากสุไหงโกลก ปลายทางยะลา (เพื่อรุ่งเข้าจะทำขบวนต่อไปยังหาดใหญ่) พร้อมด้วยมีช่างไฟ 1ที่ชื่อ นายเต๋ง (ไม่ทราบสถานะปัจจุบัน) ขณะทำขบวนออกจากสถานีรถไฟเจาะไอร้อง ซึ่งต้องผ่านช่วงบริเวณป่าเขาทั้งสองข้าง  ระหว่างรถแล่นผ่านบริเวณช่องเขา ช่างไฟก็เห็นข้างหน้ามีต้นไม้ใหญ่ล้มลงขวางรางรถไฟอยู่ 

นายเปิม พ.ข.ร เบาขบวนรถและจอดก่อนที่รถจะชนเข้ากับต้นไม้ใหญ่ที่ขวางอยู่ข้างหน้า...
 ก่อนที่จะสังเกตชัดว่า ต้นไม้ใหญ่ทีว่างขวางบนรางนั้นคือต้นไม้ที่ถูกตัดมาขวาง....ช่างไฟเต๋ง ก็สังเกตเห็นว่า สองฝั่งบนเนินที่เหนือขึ้นไปนั้นปรากฏกลุ่มบุคคลพร้อมด้วยอาวุธปืนในมือ!

“โจรพูโล!  พี่เปิม”  เสียงช่างไฟเต๋ง ตะโกนบอก ..

 ไวเท่าความคิด...นายเปิม ตัดสินใจเปิดไอรถจักรเดินหน้าอย่างเบา ๆ เพื่อให้ตะแกรงหน้ารถจักรทำหน้าที่ค่อยๆ ดันต้นไม้ใหญ่ให้หลุดพ้นจากราง

โชคเป็นของรถไฟขบวนนี้...เพราะต้นไม้ถูกรถจักรไอน้ำเขี่ยจนหลุดออกไปข้างราง!!

 ไม่รอช้า...นายเปิม เปิดไอน้ำจนสุด กระชากขบวนรถออกจากพื้นที่ ๆ อาจกลายเป็นพื้นที่แห่งความตายในเสี้ยววินาทีนั้น

ขบวนรถกระตุกอย่างแรงเพราะแรงดันไอน้ำมหาศาลที่ไปดันลูกสูบเคลื่อนที่อย่างผิดปกติ...รถวิ่งออกจากพื้นที่นั้นพร้อมกับวินาทีความเป็นความตาย

“ปัง.ปัง..ปัง!!!  เสียงปืนรัวตามหลัง พร้อมเสียงปืนตอบโต้จากตำรวจรถไฟบนขบวน และไม่นานนักเสียงปืนก็ค่อย ๆ แผ่วเบา..หายไป พร้อมกับขบวนรถที่ปุเลง ๆ หนีมาได้อย่างเฉียดฉิว!

ผลในครั้งนั้นทำให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บไม่กี่คน และหนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บสำคัญคือ ช่างไฟเต๋ง ที่ถูกกระสุนปืนจากกลุ่มโจรทิ่ยิ่งเข้ามาถูกบริเวณสะบักไหล่  ส่วน พ.ข.ร เปิม ปลอดภัย

ผู้ได้รับบาดเจ็บและช่างไฟเต๋งถูกส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลตันหยงมัส..ส่วนขบวนรถนั้น นายเปิม ทำขบวนต่อจนมาถึงสถานียะลา

เมื่อรถไฟมาถึงสถานียะลา..หลายคนพากันไปดูสภาพของรถไฟ(ซึ่งรวมทั้งผม) ก็พบว่าขบวนรถมีรอยถูกกระสุนปืนยิงเป็นรู หลายโบกี้ รวมทั้งหัวรถจักร

ทั้งนายเปิม..และช่างไฟเต๋ง และเหล่าพนักงานรถไฟรวมทั้งตำรวจรถไฟ ต่างได้รับคำชมเชยและเพิ่มขั้นให้เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ และที่น่าตกใจก็คือ ช่างไฟเต๋ง หลังจากหายดีแล้วหลายปีต่อมากลับมาถูกลูกหลงสะเก็ดระเบิดได้รับบาดเจ็บ(อีกครั้ง) เมื่อครั้งโจรใต้วางระเบิดสถานีรถไฟหาดใหญ่

แต่โชคนายเต๋งมากับดวงที่แข็งเป๊ก...เพราะหลังจากนั้นไม่นานแกก็หายดีเหมือนเดิม..

เรื่องราวเหล่านี้อาจไม่มีปรากฎในบันทึกราชการ หรือรายงานบันทึกอุบัติเหตุของการรถไฟ ทว่า..เรื่องจริงเหล่านี้ได้กลายเป็นตำนานเล่าขานกันในหมู่คนท้องถิ่นและคนรถไฟในพื้นที่ถึง วีรกรรม ที่นายเปิมและช่างไฟเต๋ง ตัดสินใจนำพาขบวนรถดังกล่าวรอดพ้นจากความตาย ซึ่งถ้าไม่เพราะความกล้าหาญและการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวในวันนั้น เราอาจมีเรื่องเศร้าและการสูญเสียที่ประเทศไทยต้องบันทึกไว้เป็ฯทางการจริง ๆ

 และแน่นอนว่า “วีรกรรม” ที่ไม่มีใครจดจำ ซึ่งกำลังจะกลายเป็นเพียงตำนานเล่าขานและถูกลืมเลือนไปในที่สุด คงเป็นบทสะท้อนให้เห็นถึงบริบทของสังคมไทยที่เรายังห่างไกลจาก “วัฒนธรรมเชิดชูคนดี” อีกมาก

และตราบเท่าที่เรา ยอมรับเรื่องของ “เงินตรา..บารมี..อำนาจ” เป็นตัวตั้งเพื่อก้าวไปสู่และยอมรับในบุคคลที่ครอบครองสิ่งเหล่านี้โดยเพิกเฉยต่อการเทิดทูน “คนดี” สุดท้ายคงต้องถามต่อไปว่า  แล้วประเทศไทยเราจะก้าวไปได้อีกสักกี่ก้าว...

Bluetrain Shop

Bluetrain Shop
เวบไซด์จำหน่ายรถไฟโมเดล

จำนวนการเข้าชม

บทความยอดนิยม

สถิติการเข้าเว็บ

เพิ่มเว็บ สารบัญเว็บไทย โปรโมทเว็บไซต์
Thanks for. ขับเคลื่อนโดย Blogger.

ผู้ติดตาม

Search

ภาพรวมสถิติ