วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2559
840 รถจักรที่สวยที่สุดในปลายยุคไอน้ำ!
เมื่อเอ่ยคำว่า "ประวัติศาสตร์" หลายหลากสำนักมักรวมเอาส่วนหนึ่งของ "คำบอกเล่า" หรือสิ่งที่เก่ากว่าที่เล่าต่อกันจนนับหลาย ๆ ปี ที่เรียกว่า "ตำนาน" เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวิเคราะห์และแยกแยะเอาสาระ เพื่อกลั่นออกมาเป็น สิ่งที่เรียกว่า ประวัติศาสตร์แท้ เพื่อให้มันสามารถมีหลักฐาน,สาระต่างๆ สอดรับกับหลักวิทยาศาสตร์ที่เป็นไปได้มากที่สุด
มีหลายท่านที่อ่านสิ่งที่ผมเขียนลงในบล๊อก ซึ่งบางครั้งข้อมูลที่เป็นด้านวิชาการโดยเฉพาะด้านเทคนิคนั้น อาจมีข้อคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ก็เป็นเรื่องที่ไม่อยากให้ถือเป็นเรื่องซีเรียสนัก ...เพราะหลักและเจตนารมย์ของการเขียนบล๊อกแห่งนี้ก็คือการเขียนเรื่องราวต่าง ๆ ที่ประสบพบเห็นและความทรงจำ รวมทั้งความพยายามที่จะเขียนเรื่องราวในอดีตเพื่อให้หลายๆ ท่านในปัจจุบันได้มองเห็นว่า ครั้งหนึ่งเมื่อรถไฟไทยอยู่ในยุคและบรรยากาศของรถจักรไอน้ำ มีอะไรเกิดขึ้น..ใครทำอะไร..และเรื่องราวต่าง ๆ ในวันนั้นมีอะไร อย่างน้อยที่สุด เกร็ดประวัติศาสตร์รถไฟไทย จะได้ไม่ขีดวงจำเพาะแต่ เรื่องราวของคนรถไฟในระดับสูงเท่านั้น!
จำได้ว่า..ผมเคยเขียนเรื่องของ พขร.เคสซี่ โจนส์ คนขับรถจักรไอน้ำธรรมดาที่ได้กลายเป็นวีรบุรุษแห่งคนรถไฟอเมริกันที่ฝรั่งต้องจดจำ และกลายเป็นตำนานที่ทำให้ เรื่องราวของรถไฟอเมริกันมีความสำคัญในทุกระดับชนชั้น
เมืองไทย แต่ละสถานีรถไฟ..แต่ละชุมทาง..แขวง ฯลฯ ล้วนมีเรื่องราวน่าสนใจและเกร็ดประวัติศาสตร์ของแต่ละชุมชน, แต่ละองค์กรนั้น ๆ ที่น่าจดจำและเก็บบันทึกไว้เพื่อเป็นเกียรติสำหรับสถานที่แห่งนั้น.....
อย่างในประเทศญี่ปุ่น แต่ละสถานีเล็ก ๆ ของเค้า ก็ล้วนมี "อัตลักษณ์" ที่เก็บเกี่ยวเรื่องราวของชุมชนคนรถไฟแห่งนั้น เพื่อให้กลายเป็นสถานที่ ๆ คนทั่วไปจะได้รู้จักว่า ที่แห่งนี้ เมื่อครั้งหนึ่ง...เวลานั้น ..เคยมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง...
ผมเกริ่นเรื่องนี้ เพราะได้เห็นภาพของรถจักรไอน้ำในอดีตคันหนึ่งที่เคยเป็นที่สุดแห่งโรงรถจักรหาดใหญ่ เพราะได้รับการขนานนามว่า เป็นรถจักรไอน้ำที่ "สวยที่สุด" ของรถจักรไอน้ำแห่งประเทศไทย!
ที่กล้าบอกว่า มันเป็นรถจักรไอน้ำที่ที่สวยที่สุดในประเทศ..เพราะเหตุว่า ในปลายยุคสุดท้ายของการใช้รถจักรไอน้ำนั้น ส่วนใหญ่รถจักรไอน้ำจะถูกส่งไปใช้งานและสุดท้ายถูกตัดบัญชีขายเป็นเศษเหล็กทิ้งเสียที่ ชุมทางทุ่งสง และชุมทางหาดใหญ่ แทบจะส่วนมาก
ผมอยากให้หลายท่านที่อาจไม่ทันยุครุ่งโรจน์ของ รถจักรไอน้ำ ได้หลับตาและนึกภาพของ บรรดารถจักรไอน้ำดำทะมึนที่ต้องเรียกกันว่า เป็น "โขลง" ต่างล้วนจอดกันเรียงรายทั้งในและนอกโรงรถจักรหาดใหญ่ในราวปี พ.ศ. 2515-2516
ควันดำหนา..เสียงไอน้ำฉีดฟู่กระจาย...กองฟืนเรียงราย โรงรถจักรหาดใหญ่ในเวลานั้น คราคร่ำไปด้วยสารพัน รถจักรไอน้ำหลากสัญชาติ
รถจักรไอน้ำมิกาโดอเมริกันตัวเล็กแรงเยอะหวูดเสียงดังหนา ฉายา "แมคอาเธอร์" ก็มีให้เห็น หรือเก๋ากว่า อย่างรถจักรไอน้ำ แบบ เทนวีลเลด ที่คนรถไฟมักเรียกมันว่า "รถอี" ก็ยังมีอยู่ แม้นในปลายยุคทั้งสองรุ่นอาจเป็นได้แค่ "รถสับเปลี่ยน" พอ ๆ กับเจ้ารถจักรดีเซลไฟฟ้าตัวตุ่น 500 แรงของอเมริกันที่เรียกว่า "ดาเวนปอร์ต" พึ่งจะเข้ามาทำหน้าที่สำหรับวิ่งรับส่งผู้โดยสารจากหาดใหญ่ไปสงขลา แทนที่รถจักรไอน้ำ
สภาพความวาวแววของล้อที่ผ่านการขัดและดูแลอย่างดีของ 840 |
รถจักรไอน้ำในปลายยุคที่ถือว่าสวยงามที่สุด หนีไม่พ้นรถจักรไอน้ำหมายเลข 840 ซึ่งเป็นรถจักรไอน้ำแปซิกฟิค ญี่ปุ่น ที่ได้รับการปรับปรุงให้ใช้น้ำมันเตาแทนระบบไม้ฟืน และในช่วงปลายชีวิตของมันนั้น ได้รับใช้ให้บริการประชาชนภาคใต้โดยทำหน้าที่วิ่งรับส่งผู้โดยสาร ระหว่าง ทุ่งสง - หาดใหญ่ - สุไหงโกลก วนเวียนอยู่อย่างนี้จนถึงที่สุดแห่งชีวิตของมัน
ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสนั่งหัวรถจักรคันนี้อยู่บ่อยครั้ง ทั้งนั่งในฐานะ "เด็กฝาก" เมื่อครั้งตอนเป็นเด็กอยู่ยะลา ต้องเดินทางไปหาพ่อที่เป็น พ.ต.ร (พนักงานตรวจรถ) ที่หาดใหญ่
บนหัวรถจักร จะมีที่นั่งเล็ก ๆ สำหรับพอนั่งได้โดยซึ่งมันสามารถพับและดึงออกมาได้ และผมก็ได้อาศัยที่นั่งตรงนี้นั่งมาตลอดระยะทางจาก ยะลา จนมาถึงสถานีเทพา จึงได้ขอไปนั่งในตู้การ์ด (ตู้ พ.ร.ร) เพราะทนความร้อนจากไอบอยเลอร์ไม่ไหว
Mr. Bob Wilson และภรรยาผู้บันทึกภาพและข้อมูลไว้ |
เมื่อผมนึกถึงรถจักรไอน้ำ 840 ก็ถือว่าโชคดีกว่าที่ว่าบังเอิญ ผมได้พบภาพของรถจักรไอน้ำที่เคยนั่งคันนี้ ซึ่งได้ถ่ายไว้โดย Mr. Bob Wilson ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวและได้บันทึกภาพที่สำคัญของรถจักรแห่งสยามคันนี้ไว้เป็นหลักฐาน
เภาพ : นายบุญเกื้อ พ.ข.ร 840 ทำขบวนจาก สุไหงโกลก -ยะลา |
รถจักรไอน้ำ 840 ในยุคสุดท้าย(ในภาพ) ประกอบด้วย พ.ข.ร คือ นายบุญเกื้อ (เสียชีวิต), ช่างไฟหนึ่งคือ นายทำเนียบ มลยงค์(หลังจากย้ายกลับไปบางซื่อแล้วเกษียณก็ไม่ได้ข่าวคราว) และช่างไฟสองคือ นายพยนต์ ซึ่งปลดเกษียณและใช้ชีวิตอยู่ในหาดใหญ่)
3 คนคือบัดดี้ ที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นต้นแบบที่คนรถไฟควรจดจำสำหรับการทำงานเป็นทีม...รักในรถจักรไอน้ำคันนี้อย่างสุดชีวิต ซึ่งพิสุจน์ได้จากแทบทุกสรรพางค์ของรถจักรคันนี้ ล้วนสะอาดสะอ้าน สดใสแทบทุกส่วนสัด
ส่วนที่เป็นทองเหลือง..หรือทองแดง...ก็สวยอร่าม หรือแม้นแต่ ล้อทุกล้อ ล้วนแวววาวเพราะทุกคนช่วยกัน ขัดสีฉวีวรรณจนรถจักรคันนี้ได้รับรางวัล "รถดูแลยอดเยี่ยม" ติดต่อกันหลายปี
840 ระหว่างรอหลีกขบวนรถโดยสาร ชายที่ยืนอยู่คือช่างไฟหนึ่ง นายทำเนียบ มลยงค์ |
ในบรรดา 3 คนแห่งทีม 840 นายบุญเกื้อหรือน้าเกื้อ ในวันนั้นอายุอานามก็ราว 40 เศษ เป็นคนสูงค่อนข้างผอม ยิ้มเก่ง แต่พูดน้อย....นายทำเนียบหรือ "น้าเนียบ" เป็นช่างไฟตัวดำปี๋ แต่อารมณ์ดียิ้มเก่ง...ใจดีและเป็นขวัญใจแม่ค้าของแต่ละสถานี ...นายพยนต์หรือน้าพยนต์ ตัวเล็กที่สุดผิวขาวจั๊วแต่แข็งแรง เพราะเกิดจากคนโยนฟืนในรถจักรรุ่นใช้ฟืน แถมตัวแกยังเล่นกล้าม..ดังนั้น คงไม่ต้องบอกว่าแม้นจะพูดน้อย แต่กล้ามเป็นมัด ๆ ก็เข้ามาช่วยเสริมบุคลิกอย่างอื่นได้ไม่น้อยเลย
ผมเมื่อครั้งเป็น "ไอ้หนู" กับเสื้อผ้าสองสามตัวในถุงกระดาษโชคดี ขึ้นบนแก๊ปหัวรถจักร นั่ง 840 จากยะลา มาหาดใหญ่ใช้เวลาราว 4-5 ชั่วโมง ...กับระยะทางราว 150 กิโลเมตร ต้องบอกว่าเป็นความทรงจำที่แสนสนุกแต่สุดท้ายก็ยอมทิ้งความสนุกเพราะไม่สามารถลากความทุกข์จากความร้อนระอุบนหัวรถจักรและแรงเคลื่อนโยกส่ายของหัวรถจักรกับเทนเดอร์ได้ สุดท้ายต้องของบายมานั่งตู้ พ.ร.ร เมื่อรถเข้าจอดที่สถานีเทพา
สถานีเทพาถือเป็นสถานีกึ่งกลางระหว่างยะลา กับหาดใหญ่ รถจักรไอน้ำจะใช้เวลาจอดที่นี่เพื่อเติมน้ำ และสถานที่แห่งนี้นานพอที่จะทำให้เกิดวัฒนธรรมอาหารดังจนบัดนี้ที่เรียกกันว่า "ไก่ทอดเทพา" ซึ่งผู้โดยสารจะสามารถลิ้มรถ ไก่ทอดสูตรเทพาที่ต้นฉบับคือการดึงเอาหนังไก่ออก แล้วนำไก่ไร้หนังไปทอดน้ำปลา ..ส่วนหนังไก่ทีเลาะออกนำไปเป็นแกงเขียวหวานฟักกับหนังไก่
ทั้งสองอย่างเข้ากันได้ดี เมื่อข้าวสวยร้อน ๆ ถูกตักใส่กะทงใบตอง ราดด้วยแกง(หนัง)ไก่ฟัก และตามด้วยไก่ทอดหนึ่งชิ้น ..นี่กลายเป็นต้นตำรับมาจนถึงปัจจุบัน ถ้าใครผ่านไปรถไฟสายใต้ตอนล่างก็ยังเห็นภาพเหล่านี้ แม้นว่าวันนี้ ต้นฉบับอาจผิดเพี้ยนไปไปทั้งผู้ขายที่เดิมเป็นคนไทยเทพา และแกงหนังไก่ จะกลายเป็นพี่น้องมุสลิม กับแกงเขียวหวานไก่แบบใหม่และถ้วยโฟมแทนก็ตาม
ผมเขียนมาถึงสุดท้ายเพื่อระลึกถึง รถจักรไอน้ำที่ได้ถือว่า เป็นรถจักรไอน้ำที่สวยที่สุดแห่งประเทศไทยในปลายยุคนั้น และที่สำคัญเขียนเพื่อรำลึกถึง 3 สหายที่ครั้งหนึ่งเคยร่วมกันทำนุบำรงุ 840 และนำพามันรับใช้ให้บริการประชาชนด้วยความรักและเต็มใจ
และสุดท้าย...ขอระลึกถึง "น้าเกื้อ" แห่ง 840 ที่จากไปแล้ว...ทว่ารอยยิ้มและความใจดียังคงอยุ่ในความทรงจำของ "ไอ้หนู" ที่ได้กลายเป็น "คุณลุง" ไปแล้ววันนี้ครับ.
***** หมายเหตุ :
1. ภาพที่ปรากฎ นำมาจาก http://www.internationalsteam.co.uk/tales/thaitales02.htm
2. ภาพดังกล่าว ถือเป็นภาพมีลิขสิทธิ์นะครับ
ป้ายกำกับ:บันทึกความทรงจำ
หมวดหมู่เนื้อหา
- บทความเก่า (2)
- บันทึกความทรงจำ (6)
- รถจักรไอน้ำสยาม (4)
- รถไฟต่างประเทศ (4)
- รถไฟบันเทิง (4)
จำนวนการเข้าชม
บทความยอดนิยม
-
ทุกครั้งที่ผมเห็นของรถจักรไอน้ำ ที่มีรูปร่างหน้าตาแปลกประหลาด เตี้ย..ตุ่น ดุดัน...ภาพเก่า ๆ ในอดีตเมื่อครั้งนั่งดูคุณปู่แมกอาเธอร์ยังคง...
-
สวัสดีปีใหม่..2557 ทุกท่านครับ... ไม่ได้เขียนบทความลงใน blog นานพอดู ..วันนี้มีเวลาว่าง ขออนุญาตนำเรื่องราวของ รถไฟในอดีต มาเ...
-
ในระหว่างการเดินทางด้วยรถไฟ ในวันหนึ่งที่ผ่านมา ผมนั่งมองวิวสองข้างทางรถไฟ ผ่านสายตาไปที่ละเฟรม ที่ละฃอต เงาของเสาโทรเลขแต่ละต้น เคลื่อนผ...
-
Big Boy 4014 + 4012 พ่วงพหุ ถ้าจะลำดับความถึง ยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะแล้ว มาถึงยุคนี้้ผมก็ยังคิดว่าไม่มียานพาหนะใดที่ดูแล้วม...
-
ผมเกิด และเติบโตในสังคมของ "คนรถไฟ" เมื่อเริ่มลืมตามองโลก ก็เห็นรถจักรไอน้ำ...เสียง ฉึกฉั่ก ๆ ๆ พร้อมไอน้ำพวยพุ่งขาวโพลน ดูมีชี...
-
รถจักรไอน้ำมิกาโด วางล้อแบบ 2-8-2 ผลิตประเทศญีป่น ภาพ :http://steamtrainstories.com ยะลา... ในอดีตที่ผ่านมาราว 30-40 ปีนั้น เป็นเพี...
-
เมื่อเอ่ยคำว่า "ประวัติศาสตร์" หลายหลากสำนักมักรวมเอาส่วนหนึ่งของ "คำบอกเล่า" หรือสิ่งที่เก่ากว่าท...
-
คืนหิมะตก..ก่อนวันคริสต์มาส เด็กน้อยนอนกระสับกระส่าย กับการเดินทางมาเยือนของ ซานต้าฯ และแล้วในคืนนั้น เสียงเครื่องจักรไอน้ำดำทะมึน พ...
เวบไซด์องค์กรรัฐ
สถิติการเข้าเว็บ
Thanks for. ขับเคลื่อนโดย Blogger.