Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...
วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2557

"แพรรี่ " รถจักรไอน้ำผู้อาภัพแห่งสยามประเทศ







 สวัสดีปีใหม่..2557 ทุกท่านครับ...

ไม่ได้เขียนบทความลงใน blog นานพอดู ..วันนี้มีเวลาว่าง ขออนุญาตนำเรื่องราวของ รถไฟในอดีต มาเล่าสู่กันเพลิน ๆ อีกตอนครับ

ผมเคยเขียนถึงรถจักรไอน้ำโบราณยุคสงคราม ที่เรียกกันว่า “แมกอาเธอร์” ซึ่งเป็นรถจักรไอน้ำของไทยที่ถือเป็นมรดกตกทอดสงครามจากฝรั่ง และถือเป็นรถจักรไอน้ำที่ได้รับการยอมรับว่า ตัวเล็กแต่แรงเหลือเฟือ ซึ่งบัดนี้ “แมกอาเธอร์” ยังไม่ปรากฎแม้นแต่ซากไว้เป็นอนุสรณ์ของไทย


บางกระแสบอกว่ายังมีซากเจ้า รถจักรไอน้ำ แมกอาเธอร์ อยู่บ้างในมะกะสัน หรือในที่อื่น ๆ ซึ่งเท่าทีสำรวจก็คงเหลือเพียงแค่ บางส่วนอาทิ พวก เทนเดอร์ หรืออุปกรณ์ แต่สำหรับการเป็นรถจักรทั้งคัน คงเป็นเรื่องยาก ซึ่งต้องฝากเพื่อนพ้องน้องพี่ ครฟ และท่านผู้ที่รักรถไฟ ช่วยหาคำตอบให้ทีว่า ยังมีซากเศษเหลือแบบเต็มคันไว้ให้ยลหายคิดถึงกันบ้างหรือไม่?

พูดถึงรถจักรไอน้ำยุคสงคราม ..นอกจาก “แมกอาเธอร์” จากฟากฝั่งตะวันตกแล้ว หลายคนคงนึกถึง เจ้า โมกุลซีรี่ส์ รถจักรไอน้ำแดนซามูไร ที่เข้ามาพร้อมกับภารกิจสงครามพร้อม ๆ กับเจ้า แมกอาเธอร์


ทุกปี เมื่อมีเทศกาลงานแม่น้ำแคว เราจะเห็นเจ้าโมกุล เป็นพระเอกลากจูงขบวนรถข้ามสะพานแม่น้ำแคว พร้อมแสงสีเสียงตระการ เพื่อเป็นการรำลึกนึกถึงประวัติศาสตร์ของไทยในยุคสงครามมหาเอเชียบูรพา

รถจักรไอน้ำโมกุล 2-6-0 (C56) หมายเลข 713

จำนวนรถจักรไอน้ำโมกุลญี่ปุ่นที่เข้าใช้ในประเทศไทยรุ่นนี้มีด้วยกัน จำนวน 46 คัน โดยต่อมาหลังการปลดระวางรถจักรไอน้ำ เจ้ารถจักรไอน้ำเหล่านี้ก็ถึงเวลาตัดบัญชีขายเป็นเศษเหล็ก และมีเพียงประมาณ 11 คันที่โชคดีหลุดโผกลายเป็นรถจักรอนุรักษ์ไว้แบบวิ่งได้และจอดเป็นอนุสรณ์ อย่างเจ้าหมายเลข 725 และ 735 นับเป็นสองคันที่โชคดีเกินคาดที่ได้กลับไปบ้านเกิดเมืองนอน ด้วยการขอซื้อกลับไปของประเทศญี่ปุ่น ส่วนที่เหลืออีก 9 ในเมืองไทย มีสองคันคือเจ้า 713 และ 715 ที่อยู่ในฐานะที่ยังอนุรักษ์ในสภาพวิ่งได้แบบซ่อมไป..ดูแลไปตามกำลังทรัพย์ที่มี ส่วนที่เหลือนั้นกระจัดกระจายกลายเป็น อนุสรณ์ตามที่ต่าง ๆ

รถจักรไอน้ำแพรรี่ยุคแรก ผลิตโดย Baldwin หมายเลข 9 นิวซีแลนด์

 แต่เรื่องที่อยากเล่าในวันนี้ คือพระเอกในยุคสงครามที่ต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกลืม ...

ใช่ครับ...ผมกำลังแนะนำให้ท่านได้ย้อนเวลากลับไปคิดถึง รถจักรไอน้ำญี่ปุ่นในยุคสงครามอีกรุ่นที่ถูกลืม ...นั่นคือ รถจักรไอน้ำแพรรี่!


รถจักรไอน้ำแพรรี่ จะหมายถึงรถจักรไอน้ำชนิดวางล้อแบบ 2-6-2 ชนิดมีพ่วง (Tender) ด้านท้าย
ต้นกำเนิดแรก ๆ ของชื่อรถจักรไอน้ำแพรี่ (Prairie Steam Locomotive) เริ่มมาจาก บริษัท Baldwin ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถจักรไอน้ำยักษ์ใหญ่ของอเมริกัน ผลิตให้แก่การรถไฟนิวซีแลนด์ ในปี ค.ศ. 1885  

Baldwin ผลิตเจ้าแพรรี่ให้กับการรถไฟนิวซีแลนด์ โดยใช้ชื่อเรียกว่า แบบ NZR N Class และอีกหลายรุ่นหลายร้อยคันต่อมาในสายการเดินรถต่าง ๆ ทั้งในสหรัฐและที่อื่น ๆ ทั่วโลก

     คำว่า “Prairie”เป็นชื่อของทุ่งหญ้าในประเทศอเมริกาดินแดนที่เต็มไปด้วยทุ่งหญ้าสุดลูกตาและฝูงของควายป่าไบสันที่มีนับล้าน ๆ ในเวลานั้น

ในห้วงเวลาสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งประเทศไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สงครามในฐานะสองฝั่ง โดยในห้วงแรกเราต้องยอมเป็นฝ่ายเดียวกับทางกองทัพญี่ปุ่น เพื่อหลีกเลี่ยงความสุญเสียหลังจากที่ญี่ปุ่นสัญญาที่จะใช้ประเทศไทยเป็นเพียงทางผ่านของการเดินทัพจากมาลายูไปสู่ประเทศพม่าและอินเดีย

การเดินทัพของญี่ปุ่นได้นำเอาสารพันยุทโธปกรณ์มาพร้อมสรรพที่สำคัญคือการนำเอารถจักรไอน้ำมาเพื่อการขนถ่ายกำลังด้วย และหลายครั้งที่กองทัพญี่ปุ่นใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมของประเทศที่ตนเองรุกผ่าน ใช้ประโยชน์ในการสงคราม การใช้ระบบราง,และรถพ่วงต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศนั้น ๆ อาทิ มาลายู,ประเทศไทย


รถจักรไอน้ำแพรรี่ที่ญี่ปุ่นนำมาใช้ในกิจการสงคราม เรียกติดปากกันในประเทศญี่ปุ่นว่าเป็นรุ่น C58 ซึ่งถือเป็นรุ่นน้องของเจ้าโมกุลญี่ปุ่นทีเรียกกันว่า C56 ที่วิ่งรับใช้บนเส้นทางตะวันตกแถบ เมืองกาญจน์ – พม่า
แพรรี่ C58-139 ผู้น้อง ปัจจุบันอนุรักษ์อยู่ญี่ปุน

แพรรี่ C58-136 ผุ้พี่ ประเทศไทย (ตัดบัญชี)


แพรรี่ 4 พี่น้องที่มีรหัสผลิตในบ้านเกิดคือหมายเลข C58-52, C58-54, C58-130 และหมายเลข C58-136 ผลิตโดยบริษัท คาวาซากิ (Kawasaki) และ บริษัท กีชา ไซโก ไกชา (Kisha Seizo Kaisha)

เจ้าสี่พี่น้อง ถูกส่งไปปฎิบัติภารกิจให้กองทัพญี่ปุ่นในมาลายู จวบจนสิ้นสุดสงคราม และญี่ปุ่นประสบความพ่ายแพ้ ยุทธปัจจัยที่ใช้ในสงครามทั้งหมดของญี่ปุ่นถูกฝ่ายพันธมิตรเข้ายึด และจำหน่ายให้แก่ประเทศไทย ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายพันธมิตรและเป็นประเทศที่ได้รับความเสียหายจากสงครามโดยเฉพาะเกี่ยวกับทรัพย์สินในกิจการรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นหัวรถจักร,โบกี้,สะพาน ฯลฯ มากมาย


แพรรี่ญีปุ่น หรือ C58 ทั้งสี่คัน จึงถูกขายให้กับประเทศไทย โดยทั้งสี่คันถูกเปลี่ยนหมายเลขใหม่เป็น 761 -764 ตามลำดับ


ทั้งสี่คันถือเป็นรถจักรไอน้ำขนาดกลางที่มีความสามารถในการวิ่งรับส่งทั้งเป็นรถโดยสารและรถสินค้าให้กับคนไทยมาจวบจนวันสุดท้ายของการตัดบัญชี และโชคไม่ดีนักที่ทั้งสี่พี่น้องแพรรี่เหล่านี้ ไม่มีคันใดได้กลับบ้านเกิดที่ญี่ปุ่นหรือแม้แต่หลงเหลือไว้เป็นอนุสรณ์ไว้ทีเมืองไทยแม้แต่คันเดียว ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นได้อนุรักษ์รถจักรไอน้ำ C58 ไว้หลายสิบคันและในหลายคันอยู่ในสภาพที่วิ่งได้ดี




อย่างล่าสุดที่ญีปุ่นได้ทำการบูรณะเจ้า C58-239 ที่หลับไปนานเกือบ 40 ปีให้กลับมามีชีวิตชีวาโลดแล่นบนแผ่นดินแม่อีกครั้ง และเริ่มทดสอบวิ่งอย่างเต็มสตรีมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา


การขุดพบซากเจ้า แพรรี่ หมายเลข 9 นิวซีแลนด์

การขนซากโครงรถจักรไอน้ำ แพรรี่ หมายเลข 9 เพื่อนำไปบูรณะ


นประเทศนิวซีแลนด์ การค้นพบซากรถจักรไอน้ำยุคแรกหมายเลข 9 ซึ่งถือเป็นรถจักรไอน้ำแพรรี่ยุคแรกฝังอยู่ในดิน ในปี ค.ศ 2007 ถือเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของคนนิวซีแลนด์ เพราะแม้นพบเพียงซากแชชสีผุผัง แต่ความหวังของนักอนุรักษ์คือ การนำเอาซากที่มีอยู่กลับไปบูรณะเพื่อให้เจ้า แพรรี่ยุคแรกกลับมาโลดแล่นเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่การรถไฟของนิวซีแลนด์อย่างน่าชื่นชม


เรื่องราวของการอนุรักษ์รถจักรไอน้ำที่ประเทศเหล่านี้ล้วนเห็นคุณค่า แต่กลับตรงข้ามกับประเทศไทย จึงนับเป็นเรื่องน่าเสียดายไม่น้อยที่เราพลาดในการมองเห็นถึงความอ่อนไหวและความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ที่จะสามารถสร้างคุณค่าให้แก่ชาติในเวลาข้างหน้า


ที่เล่ามาทั้งหมดคือเรื่องราวและบทสรุปที่เงียบเหงาและดราม่าของเจ้า แพรรี่ รถจักรไอน้ำชั้นดีอีกรุ่น ที่เกิดในแดนซามูไร แต่ข้ามน้ำข้ามทะเลมารับใช้คนคนไทยจวบจนวาระสุดท้ายของการทำหน้าที่ ที่คนไทยไม่ควรลืมครับ.




0 ความคิดเห็น:

Bluetrain Shop

Bluetrain Shop
เวบไซด์จำหน่ายรถไฟโมเดล

จำนวนการเข้าชม

บทความยอดนิยม

สถิติการเข้าเว็บ

เพิ่มเว็บ สารบัญเว็บไทย โปรโมทเว็บไซต์
Thanks for. ขับเคลื่อนโดย Blogger.

ผู้ติดตาม

Search

ภาพรวมสถิติ