Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...
วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ตำนาน "นักปรุงไอ" แห่งรถไฟไทย



 
                ต้องขออภัยบางท่านที่ฝากให้ช่วยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ ขบวนรถจักรไอน้ำพิเศษ กรุงเทพ – อยุธยา ที่พึ่งผ่านมา ผ่านทาง facebook ซึ่งกว่าจะได้มีเวลาเข้ามาอ่านก็ผ่านเทศกาลงานโชว์ของ ปู่ 824-850 ไปเป็นที่เรียบร้อย

 
               ได้มีโอกาสอ่านสกรุ๊ปข่าวเกี่ยวกับ พขร.และช่างไฟ รถจักรไอน้ำรุ่นใหม่ที่ทำหน้าที่เป็นพลขับ คุณปู่ไอน้ำดังกล่าว ก็รู้สึกดีใจและมีความสุขที่ พขร.ท่านนั้นพูดถึงภารกิจที่ทำด้วยความภาคภูมิใจและที่สำคัญ คือ “ความรัก”




                สังคมรถไฟในยุคไอน้ำ..ผ่านมายุคดีเซลและกำลังจะมุ่งไปสู่ความเป็นรถไฟความเร็วสูงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า นับว่ามีความก้าวหน้าและความเปลี่ยนไปโดยเฉพาะในวิถีชีวิตและสังคม “ชาวสีน้ำเงิน” มากไม่น้อย
 
             
ถ้าย้อนเวลากลับไปในยุค “ขี้เถ้าเคล้าขี้โล้” ที่ วิถีชีวิตของการนำพาผู้คนไปยังหนแห่งต่าง ๆ ด้วยรถไฟ.....ต้องฝากไว้กับชายสามคนบนหัวรถจักรไอน้ำที่ต้องใช้ทั้งหยาดเหงื่อแรงกาย ผสานความทรหดอดทนกับความอบร้อน..และที่สำคัญ มือที่หยาบกร้านของทั้งสามที่ต่างทำภารกิจบนหัวรถจักรไอน้ำนั้น นับเป็นห้วงเวลาคุ้มค่าแห่งความทรงจำเมื่อเวลาผ่านมาจนถึงวันเกษียณอายุ

                ทุ่งสง..หาดใหญ่ คือ ชุมทางขุมกำลังสุดท้ายของบรรดารถจักรไอน้ำที่รอชะตากรรมวันสุดท้ายแห่งการรับใช้ ...ในห้วงเวลานั้น เราจะเห็นสารพันไอน้ำทะมึนหลากสายพันธ์..หลายสัญชาติ ละลานตาเต็มไปหมดทั้งในย่านสถานี และในอู่

 
               ภาพของไอน้ำ..ควันพวยพุ่งหนา แข่งขันกันอวดศักยภาพความแรงของบอยเลอร์ตัวเอง... ความเก่งกาจของนักปรุงไอ...ช่างไฟหนึ่งคือ สิ่งที่ พขร รถจักรไอน้ำในยุคนั้น ให้ความสำคัญยิ่งนัก

 
                ระลึก ตันนะ   พขร.ในวัย 80 เศษ ที่เคยเป็นหนึ่งในผู้คุมคันชักปู่ 824 วิ่งรับส่งผู้โดยสารสาย หาดใหญ่ – ยะลา – สุไหงโกลค ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2518  เมื่อครั้งก่อนรถจักรไอน้ำทุกคันจะถูกตัดบัญชีและ 824 ก็เป็นหนึ่งในหัวรถจักรโชคดีที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในรถจักรเก็บอนุรักษ์ตามแนวคิดของ ผู้ว่า แสง จุลละจาริตต์ ที่มีปณิธาณที่จะเก็บทุกรุ่นไว้เป็นอนุสรณ์

 
         มือหยาบกร้านของนายระลึก..ค่อย ๆ ลูบไล้เหรียญรางวัล ดูแลรถจักรดีเด่นที่ได้มาเมื่อครั้งทำหน้าที่ พขร. อย่างช้า ๆ และด้วยความทรงจำที่เริ่มเลือนราง....

                “....รถจักรจะวิ่งดีหรือไม่ดี สำคัญที่สุดก็คือคนปรุงไอ..”  เสียงแหบพร่าเพื่อจะเอ่ยเน้นย้ำว่า  “คนปรุงไอ” คือ ผู้ปิดทองหลังพระ ของรถจักรไอน้ำไทย

               การไต่เต้าเพื่อจะเป็นผู้กุมคันชักรถจักรไอน้ำ..ที่เรียกกันว่า “พขร” นั้น ไม่ได้มาด้วยโชคช่วย..แต่เป็นการกรุยทางที่ต้องเอาทั้ง หยาดเหงื่อ..แรงกาย..ความทุ่มเท..และการเรียนรู้ เพื่อให้มาซึ่งเป้าหมายอันเป็นที่รัก
                “.. กว่าจะได้มาเป็น พขร ..มันต้องทดสอบความอึดกันแบบเห็น ๆ “    แกเล่าต่อ
              “ บางคนเข้ามาเป็นช่างไฟสอง ..ต้องทดสอบลงบ่อ..แบบแหนบ ดูความอึด...แถมโยนฟืนเข้าเตากันกว่าจะได้มาเป็น ช่างไฟหนึ่ง ..บางทีก็เล่นเอาผมหงอกแล้วก็มี”  เล่ามาถึงตรงนี้พร้อม ๆ กระพริบตาถี่ ๆ เพื่อเรียกความทรงจำกลับคืนมา

                แน่นอน..ว่า ในยุค “ขี้เถ้า  ชายสามคนบนหัวรถจักรไอน้ำ ต่างกันมีภารกิจต่าง แต่รวมกันเป็นหนึ่งเพื่อให้ ไอน้ำห้อตะบึงไปอย่างดุดัน...และไม่แสดงถึงความอ่อนแอ ..แม้นสังขารจะร่วงโรย

                การสิ้นสุดของตำแหน่งช่างไฟสอง...กับการมาของ รถจักรไอน้ำน้ำมันเตา ..หลายคนดีใจที่บนหัวรถจักรจะไม่มี ภาพช่างไฟสองหรือ “คนโยนฟืน”  ที่ร่างกายโทรมไปด้วยเหงื่ออีกต่อไป  

 
               แต่ในที่สุดเพียงไม่นานก็ถึงกาลอวสานแม้นกระทั่งตำแหน่ง “ช่างไฟหนึ่ง” หรือ  “คนปรุงไอ” ในที่สุด  เพราะคำสั่งให้สิ้นสุดการใช้งานรถจักรไอน้ำมาถึง....
 
               คุณปู่ คุณทวดรถจักรไอน้ำ ทุกคัน แม้นจะเหลือบ้างเพียงสองสามคันไว้ทำหน้าที่สับเปลี่ยน แต่สุดท้ายทุกคันก็ถึงแก่กาลเวลาแปรสภาพเป็น “เศษเหล็ก” ช่างกิโลขายอย่างน่าอาลัย

              
จาก “ช่างไฟ”  เปลี่ยนสถาะนเป็น “ช่างเครื่อง”   หรือ จาก “ช่างไฟสอง”  เราอาจได้ยินคำใหม่กับภารกิจใหม่คือ “คนการช่าง”   เพราะนี่คือยุคทองของ “ดีเซล” 

วันนี้... คนปรุงไอ สำหรับรถจักรใช้งาน กลายเป็น “ตำนาน” ไปพร้อมกับการลาจากยุครถจักรไอน้ำ


 พขร. รถจักรไอน้ำ ปัจจุบัน ผู้สืบสานตำนาน "นักปรุงไอ"  ยุคใหม่
ภาพจาก ไทยรัฐ


แต่ก็ยังนับว่าโชคดีที่ เมืองไทย ยังเหลือรถจักรไอน้ำไว้เพื่อการรำลึก...พร้อม ๆ กับ “นักปรุงไอ” รุ่นใหม่ที่แม้นจะไม่ต้องโทรมกายชุ่มเหงื่อแบบ รุ่นปู่ตาที่เคยทำมาในอดีต...  แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่ยังคงเหมือนกันไม่เปลี่ยนแปลงคือ สิ่งที่ ระลึก ตันนะ อดีตพขร 824  แขวงหาดใหญ่ ยังย้ำเสมอว่า


“..พขร.จะเก่งมาจากไหนก็ขับรถจักรไม่เอาอ่าวได้...ถ้าตราบใดที่ไม่มีบัดดี้ช่างไฟหนึ่งที่เป็น “ยอดนักปรุงไอ
!





               

0 ความคิดเห็น:

Bluetrain Shop

Bluetrain Shop
เวบไซด์จำหน่ายรถไฟโมเดล

จำนวนการเข้าชม

บทความยอดนิยม

สถิติการเข้าเว็บ

เพิ่มเว็บ สารบัญเว็บไทย โปรโมทเว็บไซต์
Thanks for. ขับเคลื่อนโดย Blogger.

ผู้ติดตาม

Search

ภาพรวมสถิติ